พระคัมภีร์ในหนึ่งปี 2025ตัวอย่าง

พระคัมภีร์ในหนึ่งปี 2025

วันที่ 42 จาก 365

อิสรภาพ

ภาพยนตร์ของ สตีฟ แมคควีน เรื่อง *ปลดแอก คนย่ำคน Twelve Years a Slave* ซึ่งสร้างจากบันทึกความทรงจำของ โซโลมอน นอร์ทอัพ ที่เกิดในนครนิวยอร์ก แต่กลับถูกลักพาตัวในวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี 1841 หลังจากนั้นถูกขายไปเป็นทาส และถูกกักขังเป็นเวลาสิบสองปีในรัฐลุยเซียนา เขาบรรยายถึง ความน่ากลัวของการเป็นทาสในไร่ฝ้าย และไร่อ้อย ในที่สุด ปี 1853 เขาถูกปลดปล่อยจากการเป็นทาส และได้กลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง เขาได้บันทึกเอาไว้ว่า ‘พวกเขาสวมกอดผมพร้อมกับร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้มลงมาที่คอของผม แต่ผมก็ไม่อยากจะบรรยายเหตุการณ์นี้ ตอนนี้ผมได้รับความสุขและ*เสรีภาพ*กลับคืนมาแล้ว’ การเป็นทาสไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามเป็นความชั่วร้ายที่น่าสะพรึงกลัว แต่เสรีภาพนั้นเป็นพระพรอันวิเศษ โมเสสเป็นผู้ปลดปล่อยประชากรของพระเจ้าในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เขาเป็นดั่งเงาที่สะท้อนให้เห็นถึงพระเยซูองค์พระผู้ไถ่สูงสุด ดั่งเช่นโมเสสที่นำคนของพระเจ้าให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส พระเยซูทรงปลดปล่อยคุณให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสด้วยเช่นกัน ‘อิสรภาพ’ น่าจะเป็นคำร่วมสมัยที่ดีที่สุดในการนิยามความหมายของ ‘ความรอด’ ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ทั้งเล่มอาจสรุปได้ว่าเป็น ‘ประวัติศาสตร์แห่งความรอด’ ซึ่งเป็นเรื่องราวของความปรารถนา และพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะปลดปล่อยประชาชนของพระองค์ โดยที่คุณเองก็ได้รับการปลดปล่อยด้วยเช่นกัน

สดุดี 20:1-9

ปีติยินดีไปกับอิสระที่มาจากความเชื่อ

คุณเคยมีช่วงเวลาที่ถูกปัญหารุมเร้า มีความทุกข์หรือความยากลำบากหรือไม่? ดาวิดอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ที่ใกล้เข้ามา ซึ่งเขาได้ร้องทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า ในบรรทัดแรกของพระธรรมสดุดีตอนนี้คือการขอให้พระเจ้าตอบคำอธิษฐานเมื่อเราเจอกับปัญหา ‘ทรงตอบท่านในวันยากลำบาก’ (ข้อ 1ก) และในบรรทัดสุดท้ายเป็นการร้องขอให้พระเจ้าทรงตอบคำร้องทูลของเรา ‘ทรงตอบด้วยเถิด’ (ข้อ 9ข) พระเจ้าจะทรงตอบคำอธิษฐานของคุณ

เมื่อคุณมี ‘วันแห่งความทุกข์’ ให้เราร้องทูลต่อพระเจ้าด้วยการอธิษฐานอ้อนวอนขอให้พระองค์นำความรอดและอิสรภาพมาให้ท่ามกลางการต่อสู้ (ข้อ 6–8) นี่ไม่ใช่เรื่องของการมองโลกในแง่ดีแบบสุดโต่ง แต่คือ ความเชื่อที่แท้จริง

ดาวิดตระหนักถึง ‘พลังแห่งการช่วยกู้’ ของพระเจ้านั่นคือพลังที่จะนำมาซึ่งอิสรภาพ (ข้อ 6ค) เขากล่าวว่า ‘บัดนี้ ข้าพเจ้าทราบว่าพระยาห์เวห์จะทรงช่วยผู้ที่พระองค์ทรงเจิมไว้ให้รอด’ (ข้อ 6ก) เขาได้พูดถึงหกสิ่งที่คุณสามารถอธิษฐานขอให้กับตนเอง ครอบครัว เพื่อนและชุมชนของคุณ

1. พิทักษ์รักษา

‘ขอพระยาห์เวห์ ... พิทักษ์รักษาท่าน’ (ข้อ 1) ‘กันท่านให้พ้นจากอันตราย’ (ข้อ 1ข พระคัมภีร์ตอนนี้จาก The Message โดยผู้แปล)

2. ความช่วยเหลือ

‘ขอพระองค์ทรงส่งความช่วยเหลือมายังท่านจากสถานนมัสการ’ (ข้อ 2ก)

3. สนับสนุน

‘ขอทรงสนับสนุนท่านจากศิโยน’ (ข้อ 2ข)

4. ความโปรดปราน

‘ขอทรงโปรดปรานเครื่องบูชาเผาทั้งตัวของท่าน’ (ข้อ 3)

5. ความสำเร็จ

‘ขอประทานตามใจปรารถนาของท่าน และให้แผนการทั้งสิ้นของท่านสำเร็จ’ (ข้อ 4)

6. ชัยชนะ

‘เมื่อท่านชนะ เราจะโห่ร้องด้วยความยินดี... ขอพระยาห์เวห์ทรงให้คำทูลขอทั้งสิ้นของท่านสำเร็จเถิด’ (ข้อ 5, พระคัมภีร์ตอนนี้จาก The Message โดยผู้แปล)

ความสำเร็จ ชัยชนะและอิสรภาพไม่ได้มาจากการไว้วางใจใน ‘รถรบ’ และ ‘ม้าศึก’ (ข้อ 7ก) แต่มาโดยความเชื่อและวางใจในพระเจ้า ‘พวกเราอวดเรื่องพระนามพระยาห์เวห์พระเจ้าของพวกเรา’ (ข้อ 7ข)

ข้าแต่พระเจ้า ขอบคุณพระองค์ที่ทรงปลดปล่อยข้าพระองค์ให้เป็นอิสระ ข้าพระองค์ขอเชื่อและวางใจในพระนามของพระองค์ วันนี้ข้าพระองค์ขอมอบแผนการทั้งหมดไว้ต่อเบื้องพระพักตร์พระองค์ให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์

มัทธิว 26:69-27:10

อัศจรรย์ถึงการได้มาซึ่งอิสรภาพ

พระเยซูคือองค์พระผู้ไถ่สูงสุด ประวัติศาสตร์แห่งความรอดได้มาถึงจุดสูงสุดในชีวิตผ่านความตายและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ เราจะเห็นภาพคร่าว ๆ ว่า พระเยซูต้องจ่ายราคามากมายเพียงใด พระองค์ถูกสาวกคนสนิทคนหนึ่งปฏิเสธ (26:69–75); ทรงถูกสาวกอีกคนทรยศ (27:1–10); ถูกส่งมอบให้กับเจ้าเมืองโรมัน (ข้อ 2) และถูกประณาม (ข้อ 3ก) แต่มัทธิวมองว่าทั้งหมดนี้เพื่อให้แผนของพระเจ้าสำเร็จ (ข้อ 9)

พระเยซูถูกจับเป็นเชลยเพื่อที่จะปลดปล่อยคุณให้เป็นไท พระองค์ทรงถูกมัด (ข้อ 2) ก็เพื่อปลดปล่อยจากสิ่งที่ผูกมัดคุณไว้ พระเยซูเสด็จมาเพื่อปลดปล่อยคุณจากบาปความผิด ความอับอาย การเสพติดและความกลัวให้หมดสิ้นไป

คุณเคยล้มเหลวในชีวิตคริสเตียนหรือไม่? คุณเคยล้มเหลว และทำให้พระเจ้าผิดหวังหรือไม่? คุณเคย ‘ร้องไห้เป็นทุกข์อย่างมาก’ (26:75) บ้างไหม? ผมเคยอย่างแน่นอน

สหายสนิทสองคนของพระเยซูเคยทำให้พระองค์ผิดหวังอย่างมาก น่าเศร้าที่เราทุกคนเคยทำให้พระเยซูทรงผิดหวังในชีวิตของเรา สองตัวอย่างนี้ช่วยให้เราเรียนรู้ว่าเราควรตอบสนองต่อความล้มเหลว และความผิดหวังดังกล่าวอย่างไร

มีความคล้ายคลึงกันมากระหว่างยูดาสและเปโตร ทั้งสองเป็นสาวกของพระเยซู ทั้งคู่ถูกกล่าวไว้แล้วว่าจะทำให้พระองค์ผิดหวัง (ข้อ 24–25,34) คำพยากรณ์ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมทั้งสองเป็นจริงผ่านการกระทำของพวกเขา (26:31; 27:9) แน่นอนพวกเขาเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการกระทำของพวกเขา (27:5; 26:75)

กระนั้นยังคงมีความแตกต่างที่สำคัญมากระหว่างชายสองคนนี้ เปโตรตอบสนองต่อความล้มเหลวด้วยวิธีที่ถูกต้อง ส่วนยูดาสนั้นไม่ใช่ ดังที่อัครทูตเปาโลเขียนไว้ว่า ‘เพราะว่าความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า ทำให้เกิดการกลับใจ ซึ่งจะนำไปสู่ความรอดและจะไม่ทำให้เสียใจ แต่ความเสียใจอย่างโลกนั้นย่อมนำสู่ความตาย’ (2 โครินธ์ 7:10)

ยูดาสเป็นตัวอย่างของ ‘ความเสียใจอย่างโลก’ เขาไปหาพวกผู้ใหญ่และสารภาพความผิดบาปของเขา แต่พวกนั้นกลับทำให้เขารู้สึกผิดมากขึ้น (มัทธิว 27:4) ยูดาสรู้สึกสำนึกผิด แต่น่าเศร้าที่เขาไม่สามารถมอบความบาปของเขาไปที่พระเมตตาของพระเจ้าและรับการให้อภัยจากพระองค์ได้

ในทางกลับกันเปโตรเป็นตัวอย่างของ ‘ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า’

เปโตรคงกลัวมากที่จะปฏิเสธพระเยซูถึงสามครั้ง บางทีเป็นที่เข้าใจได้ว่าเขาอาจจะกลัวที่จะถูกตรึงกางเขนร่วมกับพระเยซูหรือ บางทีเขาอาจมีความสงสัยก่อนหน้านี้ว่าพระองค์เป็นพระคริสต์จริงหรือไม่ แต่เมื่อไก่ขันความสงสัยทั้งสิ้นก็หมดไป นั่นเองทำให้เขารู้สึกว้าวุ่นใจ ‘แล้วเปโตรก็ออกไปข้างนอกร้องไห้เป็นทุกข์อย่างมาก’ (26:75)

ไม่มีความรู้สึกใดแย่ไปกว่า เมื่อเราได้เรียนรู้ว่า เราได้ทำให้พระเยซูคริสต์ทรงผิดหวัง แต่ขอบคุณพระเจ้า นี้ไม่ใช่จุดจบของเปโตร (ดูยอห์น 21) ‘ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า’ นำมาซึ่ง ‘การกลับใจ’ และความสัมพันธ์ของเขากับพระเยซูก็กลับคืนมา เขาได้รับการปลดปล่อยจากความผิดและความอับอาย และได้กลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มีอิทธิพลอย่างมากและเป็นผู้นำที่ได้รับการเจิม

คุณไม่จำเป็นต้องกดดันตนเองด้วยความรู้สึกผิดหรือละอายใจเกี่ยวกับบาปและความผิดพลาดในอดีต ผู้ที่พระเยซูไถ่ให้เป็นไทก็เป็นไท (ยอห์น 8:36) ไม่ว่าคุณจะทำพลาดและล้มเหลวมากแค่ไหนก็ไม่สายเกินไป ให้คุณตอบสนองเหมือนที่เปโตรทำ และคุณจะมีอนาคตที่ดีรออยู่ข้างหน้าในการรับใช้พระเยซู

ข้าแต่พระเจ้า ขอบคุณพระองค์ที่ทรงยอมถูกผูกมัดเพื่อปลดปล่อยข้าพระองค์จากความผิดบาป เมื่อข้าพระองค์ล้มเหลวโปรดช่วยข้าพระองค์ให้หันกลับมาหาพระองค์เสมอ เพราะใน ‘ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า จะนำไปสู่ความรอดและจะไม่ทำให้เสียใจ’

อพยพ 9:1-10:29

ใช้อิสรภาพของคุณในการนมัสการพระเจ้า

ในการรับใช้พระเจ้าทำให้เราพบอิสรภาพที่สมบูรณ์แบบ คุณถูกสร้างมาเพื่อการนมัสการและรับใช้พระเจ้า นี่คือจุดประสงค์ของคุณ

สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 (สมัยที่ยังเป็นพระคาร์ดินัล ราท์ซิงเกอร์) เขียนไว้ว่า ‘เป้าหมายเดียวของพระธรรมอพยพคือการนมัสการ แผ่นดินนี้ถูกมอบให้ประชากรเพื่อเป็นสถานที่นมัสการพระเจ้าผู้เที่ยงแท้ การมีอิสระที่จะได้สิทธิในการเข้าถึงการนมัสการพระเจ้า ซึ่งเป็นหัวใจหลักในพระธรรมอพยพได้ปรากฏให้เห็นผ่านตอนที่เผชิญหน้ากับฟาโรห์นั้น นับได้ว่าเป็นสาระที่สำคัญจริง ๆ’

อีกครั้งในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลเราได้เห็นแผนงานแห่งความรอดของพระเจ้าอันเป็นดั่งเงาสะท้อนถึงสิ่งที่จะมาในภายหลัง เราได้เห็นแผนการของพระองค์ที่จะปลดปล่อยประชากรของพระองค์จากการเป็นทาสผ่านทางโมเสส พระเจ้าตรัสดังนี้กับโมเสสครั้งแล้วครั้งเล่า ‘ไปหาฟาโรห์บอกว่า “พระยาห์เวห์ พระเจ้าของคนฮีบรูตรัสดังนี้ว่า ‘จงปล่อยประชากรของเราไปนมัสการเรา”’ (9:1)

พระองค์ประทานโอกาสให้ฟาโรห์มากมาย โมเสสได้เผยพระวจนะของพระเจ้ากับเขาครั้งแล้วครั้งเล่า ‘จงปล่อยประชากรของเราไปนมัสการเรา’ (9:13; 10:3,7) ‘จงปล่อยคนของเราไปนมัสการเรา’ (พระคัมภีร์ตอนนี้จาก The Message โดยผู้แปล)

โลกอาจเข้าใจ ‘ผลงานดี’ ของคุณ แต่กลับไม่เห็นความสำคัญของการนมัสการของคุณ ฟาโรห์กล่าวหาพวกเขาว่าเกียจคร้านและมองว่าการนมัสการเป็นเพียงข้ออ้าง (5:17–18) แต่การนมัสการคือจุดประสงค์และผลงานอันสูงสุดของคุณ ซึ่งอันที่จริงแล้วในภาษาฮีบรูคำว่า ‘นมัสการ’ (‘avad’) ในพระธรรมตอนนี้ แปลได้ว่าเป็นทั้งการนมัสการและการทำงาน

พระเจ้ารักคุณ พระองค์ไม่ทรงประสงค์ให้ใครพินาศ แต่ประสงค์ให้ทุกคนกลับใจใหม่ (2 เปโตร 3:9) วิธีเดียวที่เราจะพินาศเช่นเดียวกับฟาโรห์คือ ทำจิตใจของเราให้แข็งกระด้างและเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนทั้งหมดที่พระเจ้ามอบไว้ ความเย่อหยิ่งเป็นรากเหง้าของความบาปของฟาโรห์ ยิ่งปฏิเสธมากเท่าไรก็เป็นการยากที่เขาจะเปลี่ยนใจโดยไม่ให้เสียหน้าได้

เตรียมพร้อมที่จะยอมรับการทำผิดพลาดมากกว่าที่จะปล่อยให้ตนเองดำเนินไปในทิศทางที่ผิด ไม่ว่าคุณจะเดินทางที่ผิดมานานแค่ไหน คุณก็สามารถหันกลับมาได้เสมอ

ความปรารถนาของพระเจ้าคือ ให้ประชากรของพระองค์มีอิสระในการนมัสการพระองค์ตลอดทั้งชีวิต พระองค์ต้องการปลดปล่อยคุณจากความผิด ความละอายบาป การเสพติดและความกลัว พระองค์ต้องการให้คุณมีเสรีภาพที่จะรัก รับใช้และนมัสการพระองค์

ข้าแต่พระเจ้า ขอบคุณพระองค์ที่ทรงตรัสว่า ‘เพราะฉะนั้นถ้าพระบุตรทรงทำให้พวกท่านเป็นไท ท่านก็เป็นไทจริง ๆ’ (ยอห์น 8:36) ข้าพระองค์ขอใช้เสรีภาพนี้ในการนมัสการและรับใช้พระองค์

Pippa Adds

อพยพ 9:20

‘บรรดาข้าราชการของฟาโรห์ที่เกรงกลัวพระดำรัสของพระยาห์เวห์ ก็ให้ทาสและฝูงปศุสัตว์ของตนหลบเข้าไปในบ้าน’

หลาย ๆ คนอาจมีใจที่แข็งกระด้างและไม่ว่าจะมีสัญญาณเตือนมากมายเพียงใดพวกเขาก็ยังไม่เชื่อ แต่ถึงแม้จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้มากที่สุด แต่ก็ยังมีคนที่ตอบสนองต่อพระเจ้า นั่นเองทำให้คุณไม่สามารถเพิกเฉยต่อชนทุกชาติได้

References

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงมาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 2011 สงวนสิทธิ์โดยสมาคมพระคริสตธรรมไทย (ยกเว้นข้อที่ระบุว่าเป็นฉบับอื่น)
วันที่ 41วันที่ 43

เกี่ยวกับแผนฯ

พระคัมภีร์ในหนึ่งปี 2025

พระคัมภีร์ในหนึ่งปี เป็นแผนประจำวันซึ่งจะนำคุณอ่านพระคัมภีร์ทั้งเล่มในเวลาเพียงหนึ่งปี สำหรับใครก็ตามที่มองหาวิธีอ่านพระคัมภีร์แบบง่าย ๆ และมีแบบแผน แต่ละวันจะมีการสำรวจหัวข้อที่แตกต่างกันผ่านข้อพระคัมภีร์ที่คัดสรรมาจากพระธรรมสดุดีหรือสุภาษิต ตลอดจนพันธสัญญาใหม่และพันธสัญญาเดิม พร้อมด้วยคำอธิบายประจำวันจากนิคกี้ และพิพพา กัมเบล เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง

More

เราขอขอบคุณ Alpha International สำหรับการจัดทำแผนนี้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชม bible.alpha.org/th