พระคุณสำหรับวันนี้ตัวอย่าง

พระคุณสำหรับวันนี้

วันที่ 1 จาก 12

ต่อสู้ได้อย่างดี

ผมรักเรื่องราวดีๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฉลิมฉลองหรือโศกเศร้า บาดแผลหรือชัยชนะ วิตกกังวลหรือซึมเศร้า สำเร็จหรือล้มเหลว แต่ละเรื่องร้อยเรียงด้วยเส้นด้ายหลักถักทอเป็นผืนผ้า ในฐานะที่มีวิชาชีพด้านที่ปรึกษามากว่า 35 ปี ผมได้รับฟังเรื่องราวนับพัน ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่ผมได้มีส่วนร่วมรับรู้ในชีวิตของแต่ละคนหรือในแต่ละครอบครัว และในการช่วยค้นหาทางออกเมื่อชีวิตต้องพบความท้าทาย หลายเรื่องราวมีส่วนคล้ายกัน รวมถึงชีวิตของผมเอง ซึ่งรายละเอียดอาจแตกต่างกันบ้าง แต่เส้นด้ายหลักยังคงเป็นเส้นเดียวกัน

ทุกชีวิตล้วนต้องต่อสู้ ไม่มีข้อยกเว้น เพียงแต่เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในสภาวะที่ต้องต่อสู้ตลอดเวลาโดยไม่เห็นจุดจบได้ เราทุกคนมีแรงผลักดันที่ทำให้เราพยายามหาทางออกเสมอ แต่พลังงานส่วนใหญ่ของทั้งตัวเราและคนรอบข้างถูกใช้ไปเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ การทำให้ความทุกข์น้อยลงเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนพยายามทำ และเราหวังว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง สุขภาพใจของเราจะแข็งแรง คือเป็นสภาวะที่มีสันติสุข มีความรื่นรมย์ในชีวิต และรู้สึกเติมเต็ม ปราศจากความเครียดและการดิ้นรนต่อสู้

อย่าเพิ่งเข้าใจผมผิด โลกนี้ยังคงเต็มไปด้วยความสวยงามมากมาย แต่ก็เหมือนที่ความงามไม่สามารถบดบังความแตกสลายทั้งหมดที่เราเห็นทั้งรอบตัวและในตัวเรา ความแตกสลายก็ไม่สามารถทำลายความงามทั้งหมดได้เช่นกัน สภาวะตึงเครียดระหว่างสองสิ่งนี้เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้ความท้าทายนี้เกิดขึ้นเสมอในชีวิต พระเยซูคริสต์ทรงสอนให้สาวกเตรียมพร้อมสำหรับ “การทดลองและความโศกเศร้า” ในโลกนี้ (ยอห์น 16:33) เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าพวกเขาจะพบความทุกข์ยากในชีวิต

ทำไมเราต้องต่อสู้ดิ้นรน? มีสองเหตุผลคือ ชีวิตเป็นเรื่องยาก และชีวิตมีความเจ็บปวด

ชีวิตเป็นเรื่องยาก ประโยคนี้อาจฟังดูเย็นชา แต่มันคือความจริง หากพูดกันตามตรง เราทุกคนไม่สมบูรณ์ อาศัยอยู่ในโลกที่ไม่สมบูรณ์ เต็มไปด้วยผู้คนที่ไม่สมบูรณ์ และความจริงคือ ชีวิตเป็นเรื่องยาก ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ การดิ้นรนในชีวิตเป็นเรื่องปกติ แต่ในที่สุดทุกสิ่งจะสูญสลายไป รวมถึงการแก้ปัญหาแบบเร็วๆ หาคำตอบแบบเอาที่ง่าย เหมือนใช้เทปกาวซ่อมเท่าที่ทำได้ ที่พอแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ใช่ทางแก้ที่ยั่งยืนสำหรับความแตกสลายที่ร้าวลึกในตัวเราและรอบตัวเรา และสิ่งนี้ทำให้เจ็บปวด

ชีวิตมีความเจ็บปวด เราทุกคนได้รับบาดเจ็บ แม้บางคนอาจปิดบังความรู้สึกเจ็บปวดได้มากกว่าคนอื่น เราเจ็บปวดจากโลกที่แตกสลายและเต็มไปด้วยอันตราย ความสัมพันธ์ที่แตกร้าวทำร้ายหัวใจของเรา หลายคนรู้สึกเหมือนถูกทรยศเมื่อความทรุดโทรมเริ่มปรากฏในร่างกาย (โรคทางกาย) และจิตใจ (โรคทางใจ) ของเรา

เมื่อความเจ็บปวดถึงขีดสุด หากมีอะไรที่สามารถมาบรรเทามันได้แม้เพียงเศษเสี้ยว สิ่งนั้นก็ดึงดูดเกินห้ามใจและมีเหตุผลเพียงพอที่เราจะฉวยมันไว้เพื่อบรรเทา นั่นเป็นเหตุที่ว่าทำไมการเสพติดบางอย่างดูยอมรับได้ อย่างน้อยก็ในเวลานั้น แต่ในระยะยาว ด้วยความสามารถในการบรรเทาความเจ็บปวดที่ค่อยๆ ลดลง ในที่สุดสิ่งเหล่านั้นจะถูกแทนที่ด้วยความอับอายที่ฝังลึกและการดูถูกตนเอง ซึ่งเพิ่มความเจ็บปวดให้รุนแรงขึ้น

เพราะการต่อสู้เป็นเรื่องปกติของชีวิต คำถามที่แท้จริงจึงอยู่ที่ว่า เราจะผ่านการต่อสู้เหล่านั้นไปได้อย่างไร?

ต่อสู้ได้อย่างดี เราไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากความหวัง “ความหวัง” คือ ความปรารถนาจะเห็นวันที่ดีกว่า มันเป็นแรงผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้า เราถูกสร้างมาให้มีความหวังเพราะพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายของพระองค์ (ปฐมกาล 1:27) ความหวังนี้สะท้อนถึงอดีตที่ถูกลืมนานแล้วในสวนเอเดน และทำให้เราได้เห็นถึงความหวังที่ยังไม่เป็นจริงเกี่ยวกับการคืนดีในอนาคตผ่านการสิ้นพระชนม์ การฝังพระศพ และการฟื้นคืนของพระเยซูคริสต์ ความหวังนั้นอยู่ในพระองค์และเป็นของเราตลอดไป

คำหนุนใจที่ใช้ได้เสมอของเปาโลคือ “อย่ายอมแพ้” เพราะเรา “เหมือนภาชนะดินที่บอบบาง … เราถูกขนาบรอบ‍ข้างด้วยปัญหา แต่ก็ไม่ถึงกับถูกบดขยี้ เราสับสนแต่ก็ไม่ถึงกับสิ้นหวัง” (2 โครินธ์ 4:1, 7-8) ทำไม? เพราะเรายังมีความหวัง!

การต่อสู้ได้ด้วยดี ไม่ใช่การต่อสู้อย่างอ้างว้าง เราไม่ได้ถูกสร้างมาให้เดินผ่านความยากลำบากเพียงลำพัง แต่เป็นการทรงเรียกให้ชุมชนผู้เชื่อมาเกื้อหนุนและให้กำลังใจกันในทุกๆ วัน บ่อยครั้งเราต้องการคำแนะนำที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ เช่น จากเพื่อนที่ไว้ใจได้ ศิษยาภิบาลหรือที่ปรึกษา เพื่อชี้นำให้เราเดินไปในทางที่ถูก

เราหวังว่าเรื่องราวต่อไปนี้จะหนุนใจให้คุณค้นพบความช่วยเหลือและความหวังท่ามกลางการดิ้นรนต่อสู้ชีวิต ไปกับพี่น้องร่วมความเชื่อในพระคริสต์

ทิม แจ็คสัน, ที่ปรึกษาและนักจิตบำบัด

วันที่ 2

เกี่ยวกับแผนฯ

พระคุณสำหรับวันนี้

พระคุณสำหรับวันนี้ 10 บทความเพื่อความหวังและสุขภาพใจที่เข้มแข็งจากพันธกิจมานาประจำวัน

More

เราขอขอบคุณ Our Daily Bread Asia Pacific สำหรับการจัดทำแผนนี้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชม: https://thaiodb.org/