เอสเธอร์ 9:5-32

เอสเธอร์ 9:5-32 NTV

ชาว​ยิว​ใช้​ดาบ​โจมตี​ศัตรู​ของ​ตน ฆ่า​และ​กำจัด​พวก​เขา และ​กระทำ​ต่อ​คน​ที่​เกลียด​พวก​เขา​ตาม​ใจ​ชอบ เพียง​แต่​ใน​สุสา​เมือง​ป้อม​ปราการ ชาว​ยิว​ได้​ฆ่า​และ​กำจัด​ชาย 500 คน และ​ได้​ฆ่า​ปาร์ชันดาธา ดาลโฟน อัสปาธา โปราธา อาดัลยา อารีดาธา ปาร์มชทา อารีสัย อารีดัย และ​ไวซาธา คือ​บุตร​ชาย​ทั้ง​สิบ​ของ​ฮามาน​บุตร​ของ​ฮัมเมดาธา​ศัตรู​ของ​ชาว​ยิว แต่​พวก​เขา​ไม่​ได้​ริบ​ข้าว​ของ​ไป ใน​วัน​นั้น กษัตริย์​ได้​รับ​รายงาน​จำนวน​ของ​พวก​ที่​ถูก​ฆ่า​ใน​สุสา​เมือง​ป้อม​ปราการ กษัตริย์​กล่าว​กับ​ราชินี​เอสเธอร์​ว่า “ชาว​ยิว​ได้​ฆ่า​และ​กำจัด​ชาย 500 คน กับ​บุตร​ชาย​ทั้ง​สิบ​ของ​ฮามาน​ใน​สุสา​เมือง​ป้อม​ปราการ และ​พวก​เขา​ได้​ทำ​อะไร​บ้าง​ใน​แคว้น​อื่นๆ ของ​เรา บัดนี้ เธอ​อยาก​ได้​อะไร เธอ​ก็​จะ​ได้ และ​เธอ​จะ​ขอ​อะไร​อีก เธอ​ก็​จะ​ได้​รับ” เอสเธอร์​ตอบ​ว่า “ถ้า​จะ​เป็น​ที่​พอใจ​ของ​กษัตริย์ พรุ่งนี้​ขอ​ให้​ชาว​ยิว​ใน​สุสา​ได้​รับ​อนุญาต​ปฏิบัติ​ตาม​กฤษฎีกา​ของ​วัน​นี้ และ​แขวน​คอ​บุตร​ทั้ง​สิบ​ของ​ฮามาน​บน​ตะแลงแกง​เถิด” กษัตริย์​จึง​บัญชา​ให้​ทำ​ตาม​นั้น กฤษฎีกา​ออก​ใน​สุสา บุตร​ชาย​ทั้ง​สิบ​ของ​ฮามาน​ก็​ถูก​แขวน​คอ บรรดา​ชาว​ยิว​ที่​อยู่​ใน​สุสา​ร่วม​กัน​ฆ่า​ชาย 300 คน​ใน​สุสา​ใน​วัน​ที่​สิบ​สี่​ของ​เดือน​อาดาร์ แต่​พวก​เขา​ไม่​ได้​ริบ​ข้าว​ของ​ไป ส่วน​ชาว​ยิว​ที่​เหลือ​ใน​แคว้น​อื่นๆ ของ​กษัตริย์ ก็​ได้​ร่วม​กัน​ปกป้อง​ชีวิต​ของ​ตน และ​พ้น​จาก​การ​รังควาน​ของ​พวก​ศัตรู​ของ​เขา และ​ฆ่า​คน 75,000 คน​ที่​เกลียด​ชัง​พวก​เขา แต่​พวก​เขา​ไม่​ได้​ริบ​ข้าว​ของ​ไป สิ่ง​เหล่า​นี้​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​ที่​สิบ​สาม​ของ​เดือน​อาดาร์ และ​ใน​วัน​ที่​สิบ​สี่ พวก​เขา​หยุด​พัก​และ​จัด​ให้​เป็น​วัน​ที่​มี​งาน​เลี้ยง​และ​วัน​ยินดี ฝ่าย​ชาว​ยิว​ที่​อยู่​ใน​สุสา​ก็​ปฏิบัติ​ร่วม​กัน​ใน​วัน​ที่​สิบ​สาม​และ​สิบ​สี่ และ​หยุด​พัก​ใน​วัน​ที่​สิบ​ห้า จัด​วัน​นั้น​ให้​เป็น​วัน​ที่​มี​งาน​เลี้ยง​และ​วัน​ยินดี ฉะนั้น ชาว​ยิว​จาก​หมู่​บ้าน​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​ชนบท​ใช้​วัน​ที่​สิบ​สี่​ของ​เดือน​อาดาร์ เป็น​วัน​ยินดี​และ​มี​งาน​เลี้ยง​เช่น​วัน​หยุด และ​เป็น​วัน​ที่​พวก​เขา​มอบ​อาหาร​เป็น​ของ​ขวัญ​ให้​แก่​กัน​และ​กัน โมร์เดคัย​บันทึก​เรื่อง​เหล่า​นี้ และ​ส่ง​จดหมาย​ถึง​ชาว​ยิว​ทั้ง​ปวง​ที่​อยู่​ใน​ทุก​แคว้น​ของ​กษัตริย์​อาหสุเอรัส ทั้ง​ใกล้​และ​ไกล เพื่อ​ให้​พวก​เขา​ร่วม​กัน​ถือ​วัน​ที่​สิบ​สี่​และ​วัน​ที่​สิบ​ห้า​ของ​เดือน​อาดาร์ เป็น​ประจำ​ทุก​ปี เป็น​วัน​ที่​ชาว​ยิว​พ้น​ภัย​จาก​ศัตรู​ของ​พวก​เขา และ​เป็น​เดือน​ที่​เปลี่ยน​จาก​ความ​เศร้า​เป็น​ความ​ยินดี และ​จาก​วัน​ไว้​อาลัย​เป็น​วัน​ฉลอง พวก​เขา​ตั้ง​ให้​เป็น​วัน​แห่ง​งาน​เลี้ยง​และ​ความ​ยินดี วัน​มอบ​อาหาร​เป็น​ของ​ขวัญ​ให้​แก่​กัน​และ​กัน และ​มอบ​ของ​ขวัญ​ให้​แก่​คน​ยากไร้ ดังนั้น ชาว​ยิว​เห็น​ด้วย​ที่​จะ​รักษา​วัน​ฉลอง​เหมือน​ที่​เริ่ม​กระทำ​มา​แล้ว และ​กระทำ​ตาม​สิ่ง​ที่​โมร์เดคัย​ได้​เขียน​ถึง​พวก​เขา เพราะ​ฮามาน​ชาว​อากัก​บุตร​ของ​ฮัมเมดาธา ผู้​เป็น​ศัตรู​ของ​ชาว​ยิว​ทั้ง​ปวง เขา​ได้​วาง​แผน​ต่อต้าน​ชาว​ยิว​เพื่อ​กำจัด​พวก​เขา และ​ได้​จับ​ฉลาก​ซึ่ง​เรียก​ว่า “ปูร์” เพื่อ​เจาะจง​หา​วัน​ที่​จะ​ทำลาย​และ​กำจัด​พวก​เขา แต่​เมื่อ​เรื่อง​เป็น​ที่​ทราบ​ของ​กษัตริย์ ท่าน​ออก​คำ​สั่ง​เป็น​ตัว​อักษร​ว่า แผน​การ​ชั่ว​ร้าย​ของ​เขา​ที่​มี​ต่อ​ชาว​ยิว​นั้น​ควร​กลับ​ไป​ลง​โทษ​ตัว​เขา​เอง และ​ฮามาน​กับ​บรรดา​บุตร​ชาย​ของ​เขา​ควร​ถูก​แขวน​คอ​บน​ตะแลงแกง ฉะนั้น พวก​เขา​จึง​เรียก​วัน​นั้น​ว่า ปูริม ตาม​คำ​เรียก “ปูร์” ฉะนั้น เป็น​เพราะ​ทุก​สิ่ง​ที่​เขียน​ใน​จดหมาย​นี้ และ​เพราะ​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ได้​เผชิญ​รวม​ไป​ถึง​สิ่ง​ที่​ได้​เกิด​ขึ้น​กับ​พวก​เขา บรรดา​ชาว​ยิว ผู้​สืบ​เชื้อสาย​ของ​พวก​เขา และ​ทุก​คน​ที่​ร่วม​กัน​กับ​พวก​เขา ต่าง​ก็​หมั่น​ปฏิบัติ​รักษา​ทั้ง 2 วัน​นี้ ตาม​เรื่อง​ที่​เขียน​ไว้​โดย​ไม่​เว้น และ​ตาม​เวลา​ที่​กำหนด​ไว้​ของ​ทุก​ปี วัน​ดัง​กล่าว​ควร​จะ​เป็น​ที่​จดจำ​และ​รักษา​ตลอด​ทุก​ชั่ว​อายุ​คน ทุก​ตระกูล แคว้น และ​เมือง และ​ไม่​ควร​หยุด​ฉลอง​วัน​ปูริม​ใน​หมู่​ชาว​ยิว​เป็น​อัน​ขาด และ​บรรดา​ลูก​หลาน​ไม่​ควร​หยุด​ระลึก​ถึง​เหตุการณ์​นี้​ตลอด​ไป ราชินี​เอสเธอร์​บุตร​หญิง​ของ​อาบีฮาอิล กับ​โมร์เดคัย​ชาว​ยิว​ก็​ได้​เขียน​มอบ​อำนาจ​เป็น​ทาง​การ เพื่อ​รับรอง​จดหมาย​ฉบับ​ที่​สอง​นี้​เรื่อง​วัน​ปูริม จดหมาย​ถูก​ส่ง​ไป​ยัง​ชาว​ยิว​ทั้ง​ปวง​ใน 127 แคว้น​ของ​กษัตริย์​อาหสุเอรัส ด้วย​คำ​พูด​แห่ง​สันติสุข​และ​ความ​จริง คือ​วัน​ปูริม​นี้​ควร​รักษา​ตาม​กาล​เวลา​ที่​กำหนด​ไว้ ตาม​ที่​โมร์เดคัย​ชาว​ยิว​และ​ราชินี​เอสเธอร์​ร่วม​กระทำ​การ​ให้​มี​วัน​นี้​ตั้ง​ขึ้น​มา​ได้ ทั้ง​สอง​และ​บรรดา​ผู้​สืบ​เชื้อสาย​ได้​มี​ส่วน​ใน​การ​อด​อาหาร​และ​ร้อง​คร่ำครวญ สิ่ง​ที่​ราชินี​เอสเธอร์​ขอ​ให้​มี​ใน​กฤษฎีกา​นั้น​ระบุ​อย่าง​ชัดเจน​เกี่ยว​กับ​วัน​ปูริม ซึ่ง​มี​การ​บันทึก​ไว้​แล้ว